เซรามิกลำปาง…เรื่องเล่าของชามไก่

ความเป็นมาชามตราไก่

“ ชามไก่ ”  หรือที่คนแต้จิ๋วเรียก “โกยอั้ว ” และที่ปัจจุบันนิยมเรียก “ชามตราไก่ ”  นั้น  มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน  โดยในประเทศไทยเป็นที่นิยมใช้รับประทานข้าวต้ม  โดยเฉพาะในหมู่คนจีนแต้จิ๋ว  ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง  ด้วยเอกลักษณ์ที่โดดเด่นจากรูปไก่สีแดง  และลักษณะของชามที่เหมาะกับการใช้ตะเกียบพุ้ย

                 ชามไก่ มีต้นกำเนิดผลิตกันในประเทศจีนกว่าร้อยปีมาแล้วในมณฑลกวางตุ้ง โดยชนชาวจีนแคะในตำบลกอปี อำเภอไท้ปู  และชาวจีนแต้จิ๋วที่ตำบลปังโคย ซึ่งมีเขตติดต่อกันทางใต้ ชามไก่นอกจากใช้ในประเทศจีนแล้วยังส่งจำหน่ายแก่ชาวจีนโพ้นทะเลด้วย  ดังนั้นส่วนหนึ่งจึงส่งมาจำหน่ายยังประเทศไทย  ซึ่งมีชาวจีนโดยเฉพาะชาวแต้จิ๋วอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก

เนื่องจากในระยะก่อนสงครามโลกครั้งที่สองยังไม่มีผู้ผลิตชามไก่ในประเทศไทย  และมีความต้องการจากตลาดมาก  พ่อค้าชาวจีนซึ่งอยู่แถวถนนทรงวาดตลาดเก่าในกรุงเทพฯ  จึงสั่งนำเข้ามาจากประเทศจีน  ซึ่งในขณะนั้นมีราคาถูกมาก  ต่อมาเกิดสงครามจีนญี่ปุ่นขึ้น  ทำให้ชามไก่ขาดตลาดของที่นำเข้าไม่พอขาย  และราคาสูงขึ้น

                ต่อมามีช่างชาวจีนย้ายถิ่นฐานเข้ามาในประเทศไทย  ได้มีการก่อเตามังกรทำเครื่องปั้นดินเผา  ซึ่งรวมถึงชามไก่ด้วย เนื่องจากเป็นที่ต้องการของตลาด ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2480 ถึง 2500  ซึ่งได้แก่โรงงานอุตสาหกรรมดินเผาสี่แยกราชเทวี ถนนเพชรบุรี กรุงเทพฯ, โรงงานบุญอยู่พาณิชย์ ที่เชียงใหม่, โรงงานศิลามิตรที่เชียงใหม่  และโรงงานของนายทวี  ผลเจริญ  ที่วงเวียนใหญ่ จังหวัดธนบุรี ซึ่งชามไก่ในช่วงนั้นมีไม่มากนัก  เนื่องจากยังขาดดินคุณภาพดี  ช่างชาวจีนเหล่านี้ส่วนหนึ่งจึงได้ย้ายขึ้นมาตั้งโรงงานที่จังหวัดลำปาง  หลังจากได้มีการพบดินขาวที่อำเภอแจ้ห่ม

                 ในยุคแรกเป็นชามทรงแปดเหลี่ยมเกือบกลม ขาเป็นเชิง ชุบเคลือบขี้เถ้า เผาด้วยฟืน วาดลวดลายบนเคลือบ มี 4 ขนาด คือ 5,6,7 และ 8 นิ้ว ชามไก่มีต้นกำเนิดจากประเทศจีนในมณฑลกวางตุ้ง เมื่อชาวจีนเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยจำนวนมาก จึงมีการผลิตขึ้นมาตามความต้องการตลาดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2480 แต่ผลิตจำนวนมากขึ้นที่จังหวัดลำปาง หลังปี พ.ศ. 2500 

วิธีผลิตแบบโบราณ

  • เริ่มจากการผสมดินใช้โดยย่ำด้วยเท้า  และนวดด้วยมือ 
  • ปั้นตบเป็นดินแผ่น   แล้วอัดลงแม่พิมพ์ปูนพลาสเตอร์หมุนเป็นวงกลมด้วยมือ  ปาดด้วยไก๊ (ไม้ปาดตัดเป็นรูปโค้ง)
  • ต่อขาทิ้งค้างไว้บนกระดานให้แห้งโดยธรรมชาติ  แล้วนำมาชุบเคลือบที่ทำจากขี้เถ้าแกลบปูนหอย  และดินขาว 
  • นำไปเรียงในเตามังกร  เผาด้วยฟืนในความร้อนเกือบ 1300 องศาเซลเซียส  ประมาณ 18-24 ชั่วโมง 
  • เมื่อเผาสุกแล้วนำออกมาเขียนสีบนเคลือบด้วยพู่กันเป็นลายไก่ ดอกไม้และต้นกล้วย 
  • เผาในเตาอบรูปกลมภายในเป็นถังดินขนาดใหญ่  ด้วยความร้อน 700 – 750 องศาเซลเซียส   ด้วยฟืนประมาณ 5 – 6 ชั่วโมง รอจนเย็นแล้วก็นำมาใส่เข่งส่งจำหน่าย

ชามไก่ในจังหวัดลำปาง

                ชามไก่ เริ่มมีการผลิตขึ้นในจังหวัดลำปางเมื่อปี พ.ศ. 2500  โดยชาวจีนเมืองไท้ปู (ในฮกเกี้ยน) 4 คน คือ นายซิมหยู  (โรงงานธนบดีสกุลในปัจจุบัน) นายเซี่ยะหยุย  แซ่อื้อ (โรงงานไทยมิตรในปัจจุบัน) นายซิวกิม แซ่กว๊อก (โรงงานกฎชาญเจริญในปัจจุบัน) และนายซือเมน  แซ่เทน (โรงงานเจริญเมืองในปัจจุบัน) ได้ร่วมกันก่อตั้งโรงงานเครื่องปั้นดินเผาแห่งแรกของจังหวัดลำปางชื่อ “โรงงานร่วมสามัคคี” ที่หมู่บ้านป่าขาม  อำเภอเมืองลำปาง  ผลิตชามไก่ขนาด 6” และ 7” และถ้วยยี่ไฮ้ สามปีต่อมาหุ้นส่วนต่าง ๆ ก็ได้แยกตัวออกไปเปิดโรงงานผลิตถ้วยชามของตนเอง

                ระหว่างปี พ.ศ. 2502 – 2505  กลุ่มชาวจีน ได้ทยอยกันมาตั้งโรงงานผลิตถ้วยชามที่จังหวัดลำปางมากขึ้น  ทำให้เป็นแหล่งผลิตชามไก่มากกว่าแหล่งอื่น ๆ ในประเทศ  จึงเป็นช่วงที่มีการผลิตชามไก่กันมากที่สุด  และได้ราคาดี  เนื่องจากไม่สามารถนำเข้าชามไก่จากประเทศจีนได้  ชามไก่ขนาด 6 นิ้ว ที่คุณภาพดี ได้ราคาถึง 1.50 บาท ในสมัยนั้น

วิธีการผลิตชามไก่ในลำปาง

                วิธีการผลิตชามไก่ เมื่อเริ่มแรกในลำปางนั้น  อาศัยวัสดุอุปกรณ์ท้องถิ่นมาใช้ในการขึ้นรูป  โดยหาล้อจักรยานมาเป็นแป้นหมุน  มีแผ่นไม้ตัดเป็นรูปโค้ง (จิ๊กเกอร์มือ) ได้ขนาดเหมาะมือจับ  ขว้างดิน (ดินขาวลำปาง) หมักเปียกลงบนพิมพ์  ซึ่งหมุนบนล้อจักรยาน  แล้วใช้จิ๊กเกอร์ไม้กวาดแต่งเติมดินให้ได้รูปทรงถ้วยกลมทีละใบแล้วนำมาต่อขา ชามไก่ในยุคแรก ๆ จะค่อนข้างหนา

                สำหรับการเคลือบ  ใช้เคลือบขี้เถ้าแกลบ  ตำบดในครกขนาดใหญ่ โดยใช้แรงคนเหยียบหลายวันจนละเอียด  แล้วนำมาร่อนตะแกรงก่อนจะนำมาแช่น้ำในบ่อให้ตกตะกอน นำเอาส่วนที่ไม่ตกตะกอนมาใช้ แล้วนำถ้วยชามมาจุ่มเคลือบทั้งใบ

                วิธีการเผานั้น ใช้เตามังกรโบราณแบบกอปี นำฟืนไม้ไผ่แห้งเป็นเชื้อเพลิง เตามีลักษณะยาวประมาณ 15-20 เมตร ทำช่องใส่ฟืนเป็นระยะ ๆ ภายในก่อเป็นขั้นบันไดตามความยาวของเตา  โดยนำถ้วยชามที่เคลือบเสร็จมาใส่จ๊อทนไฟ  นำมาเรียงในเตา  เผาที่อุณหภูมิสูงประมาณ 1250 – 1300 องศา C เป็นเวลาร่วม 24 ชั่วโมง  ด้วยประสบการณ์พิเศษ โดยการสังเกตุสีของเปลวไฟ และการชักตัวอย่าง เพราะไม่มีเครื่องมือวัดอุณหภูมิในสมัยนั้น

                การวาดลายไก่บนเคลือบ  ได้มีการฝึกคนงานในท้องถิ่นตวัดพู่กันจีน โดยให้คนวาด 2 – 3 คน  วาดเป็นส่วน ๆ ต่อเติมจนเต็มรูปแบบในแต่ละใบ แต่ละคนจะจับพู่กันทีละ 2 –3 ด้ามในเวลาเดียวกัน จากนั้นนำมาเผาในเตากลมอุณหภูมิประมาณ 750 องศา C

                ขั้นตอนกรรมวิธีการผลิตรุ่นแรก ๆ จึงล่าช้าไม่เพียงพอกับตลาด

การเปลี่ยนแปลงของชามไก่

ชามไก่เริ่มมีการเปลี่ยนรูปแบบ  เมื่อโรงงานต่าง ๆ หันมาลดต้นทุนในการผลิต  เพื่อให้สามารถขายได้  ในราคาต่ำลง  โดยเริ่มใช้เครื่องปั้น (จิ๊กเกอร์) ในการผลิต  ชามจึงมีลักษณะกลมไม่เป็นเหลี่ยม  ต่อมาก็ทำพิมพ์ให้มีขาชามในตัว  เพื่อจะได้ไม่ต้องต่อขาชามภายหลัง  ขาชามรุ่นหลังจึงไม่เป็นเชิงจะตรงลงมาในแนวดิ่ง

                ชามไก่เริ่มเปลี่ยนไปอย่างมาก  เมื่อโรงงานเสถียรภาพที่อ้อมน้อย จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นโรงงานขนาดใหญ่ สร้างเตาอุโมงค์เผาด้วยน้ำมันเตาในปี พ.ศ. 2505  แล้ววาดสีใต้เคลือบเผาครั้งเดียวไม่ต้องอบสี ไก่วาดด้วยสีเขียวหางน้ำเงิน  ดอกไม้สีชมพู  ลายวาดลดความละเอียดลง  ขายในราคาถูกลง  ซึ่งสามารถทำตลาดได้ดี  เนื่องจากราคาถูกและลวดลายไม่ถลอกได้ง่าย  จากนั้นราคาชามไก่ก็ถูกลงเรื่อย ๆ

                ตั้งแต่ปี 2506  โรงงานถ้วยชามเริ่มหันมาผลิตถ้วยชามรูปแบบอื่น ๆ มากขึ้นโดยเฉพาะถ้วยชามแบบญี่ปุ่น  ซึ่งเข้ามาแทนที่ด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยขึ้น  จังหวัดลำปางเป็นเพียงจังหวัดเดียวที่ยังผลิตชามไก่มาอย่างต่อเนื่อง แต่หาช่างฝีมือที่คงรูปแบบเดิมยาก อีกทั้งสีที่วาดราคาแพง  ส่วนใหญ่จึงใช้สีวาดใต้เคลือบ  เผาครั้งเดียวที่อุณหภูมิ 1260 องศา C เปลี่ยนวาดตัวไก่ใช้สีชมพู หางสีน้ำเงิน  แซมใบไม้สีเขียวเข้ม ในปี พ.ศ. 2516  ราคาชามไก่ 6 นิ้ว  มีราคาเพียงใบละ 40 สตางค์ เท่านั้น  และมีการผลิตน้อยลงเรื่อย ๆ และการผลิตด้วยสีบนเคลือบแบบดั้งเดิมเริ่มหายไปจากตลาด

                ชามไก่ ถือเป็นกำเนิดของเครื่องปั้นดินเผาของจังหวัดลำปาง  ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันจังหวัดลำปางมีการผลิตเซรามิกหลากหลายประเภท  ตั้งแต่เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร ของชำร่วยของประดับ กระเบื้อง สุขภัณฑ์ ลูกถ้วยไฟฟ้า ตลอดจนลูกกรงเซรามิก  และแม้ว่าปัจจุบันชามไก่จะไม่ใช่สินค้าที่มีมูลค่าหลักของเซรามิกจังหวัดลำปาง  แต่ชามไก่มีความหมายเป็นสัญลักษณ์ของเครื่องปั้นดินเผาลำปาง  และจะอยู่ในความทรงจำของกลุ่มผู้ผลิตเซรามิกจังหวัดลำปาง และของคนไทยตลอดไป


               

ขอบคุณข้อมูลจาก 

หนังสือ  LAMPANG  CERAMIC  2002 คุณสุวิชและคุณอนุรักษ์ นภาวรรณ