60 ปี ชามไก่ลำปาง

ความผูกพันกับชามไก่ ถ่ายทอดผ่านตัวหนังสือของคุณอนุรักษ์ นภาวรรณ ผู้บริหารรุ่นที่ 2 ของบริษัทอินทราเซรามิค จำกัด

          ชามไก่ลำปางมีอายุครบ 60 ปีแล้ว  ผลิตกันมาหลายล้านใบจนนับไม่ถ้วน  ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของ เซรามิกจังหวัดลำปางที่คนส่วนใหญ่รู้จักดี  หลายคนเจริญรุ่งเรืองมาได้ก็เพราะชามไก่ แต่อนาคตของชามไก่จะเป็นอย่างไรคงไม่มีใครรู้ได้  ในโอกาสกึ่งศตวรรษของชามไก่ลำปางนี้ ผมขอบังอาจวิพากษ์เรื่องของชามไก่ในอีกแง่มุมหนึ่ง  นอกเหนือไปจากที่เคยเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับชามไก่อย่างเป็นทางการไว้ให้กับสมาคมเครื่องปั้นดินเผาลำปางไว้นานแล้ว

          เริ่มกันที่ชื่อ “ชามไก่” หลายคนบอกว่าผมเรียกผิด เขาเรียก “ชามตราไก่” กันทั่วเมือง  ผมขอยืนยันว่าคนสมัยก่อนเขาเรียก “ชามไก่”  ภาษาจีนเรียก “โกยอั้ว”  ส่วน “ชามตราไก่” มาเรียกกันภายหลัง  ซึ่งผมไม่ชอบคำว่า “ตรา”  เพราะไก่เป็นลวดลายไม่ใช่ตราสินค้า   ถ้าเรียก “ชามลายไก่”  ยังถูกต้องกว่า   เหมือนกับ “โอ่งมังกร”  ที่ราชบุรี ไม่มีใครเรียก “โอ่งตรามังกร”  ถ้าเป็น “โอ่งลายมังกร” ยังพอได้ยินเรียกกันอยู่บ้าง   แต่เนื่องจากเรียก “ชามตราไก่” กันมาจน  ติดปาก  ก็ถือว่าจะเรียกอย่างนั้นก็ไม่ว่ากันครับ

          มาถึงประเด็นว่า ทำไมต้องวาดลายไก่ อันนี้ผมขอตอบตรง ๆ ว่าไม่ทราบเหมือนกัน  เพราะชามไก่นี้เริ่มผลิตกันในประเทศจีนมากว่าร้อยปีมาแล้วในมณฑลกวางตุ้ง  แล้วส่งเข้ามาในเมืองไทยตั้งแต่ก่อนสมัยสงครามโลก เนื่องจากมีชาวแต้จิ๋วอพยพมาอยู่เมืองไทยกันจำนวนมาก ผมเคยเห็นสินค้าเซรามิกในหลายประเทศก็นิยมวาดลายไก่  เช่น  ของอิตาลี  อังกฤษ  ฝรั่งเศส  เยอรมันเป็นต้น  คงเนื่องจากไก่เป็นสัตว์พื้นบ้าน เลี้ยงง่าย รูปร่างสง่า น่ารัก

          ส่วนตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัดลำปาง ที่เป็นรูปไก่ขาวยืนอยู่ในซุ้มประตูโขงวัดพระธาตุลำปางหลวงนั้นเป็น “ไก่เทพ”  ไม่ใช่  “ไก่พื้นบ้าน”  ที่วาดกันในถ้วยชาม  และมีความเกี่ยวโยงกับตำนานกุกกุฏนคร หรือเมืองไก่  ที่เล่าว่า  เมื่อครั้งพุทธกาลพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงบริเวณนี้ พระอินทร์ได้นิมิตรมาเป็นไก่ขาว ปลุกชาวบ้านให้ตื่นขึ้นมาเพื่อ    ทำบุญใส่บาตร  แต่ดูเหมือนชามไก่จะดูเข้ากันได้กับเมืองไก่  เพราะหลังจากที่ชามไก่เริ่มผลิตกันในกรุงเทพราวปี พ.ศ. 2480 ต่อมาผลิตที่ธนบุรี  อ้อมน้อย  เชียงใหม่  แล้วมาที่จังหวัดลำปางในราวปี 2500  ก็เจริญรุ่งเรืองอยู่เฉพาะที่จังหวัดลำปาง เมืองไก่ จนเหลือเพียงจังหวัดเดียวที่ยังผลิตชามไก่อยู่จนทุกวันนี้

          ปัจจุบันชามไก่ยังเป็นที่นิยมอยู่ทั่วไป  ผมไปที่ไหนเห็นชามไก่แล้วรู้สึกดีใจที่ได้เห็นไก่รูปร่างต่าง ๆ วิ่งอยู่บนถ้วยชาม  ถือว่าเป็นสินค้า  เป็นรายได้ให้กับคนลำปาง  ขณะเดียวกัน  ผมเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของชามไก่ที่กลายเป็นสินค้าราคาถูก  วาดลวดลายหยาบลงรูปร่างก็เปลี่ยนไป  เพื่อให้ผลิตได้ง่ายขึ้นและเพื่อลดต้นทุนในการผลิต ชามไก่รุ่นเก่าเผาไฟสูงกว่าที่ผลิตกันในปัจจุบัน  มีความแกร่งและถือว่าเป็นเกรดพอซเลนเนื้อหนา  ใช้งาน  ทนทานกว่า  รูปร่างแปดเหลี่ยม  ขาเป็นเชิงสูง  จับง่าย  ซ้อนแล้วก็หยิบง่าย  วาดลวดลายละเอียดสวยงาม  บ่งบอกถึงความชำนาญทางช่างและความมีศิลปะของคนรุ่นก่อน  คุณสมบัติทั้งหมดนี้หาได้ยากในชามไก่รุ่นปัจจุบัน

          แต่ผมยังไปพบชามไก่รูปแบบเดิม  แต่ตีโลโก้  MADE  IN  CHINA แสดงว่าประเทศจีนยังคงผลิตชามไก่อยู่และผลิตได้อย่างสวยงาม  และคงเอกลักษณ์ของชามไก่รูปแบบเดิมไว้ได้ไม่เปลี่ยนแปลง  และแสดงว่าชามไก่ไม่ใช่อัตลักษณ์ที่แสดงถึงศิลปวัฒนธรรมของชาวลำปางที่แท้จริง  ผมเคยคิดว่าถ้าชาวจีนต้นฉบับที่เขาผลิตชามไก่กันมาชั่วลูกชั่วหลานมาเห็นประติมากรรมชามไก่ที่เราทำไว้ที่จังหวัดลำปาง  เขาคงแปลกใจไม่น้อยว่าชามไก่ของเขาทำไมมาเป็นอนุสาวรีย์อยู่ที่ลำปางนี่  และผมก็นึกต่อไปว่าถ้าถนน R3A จากจีนมาไทยเปิดใช้  เขาจะขนชามไก่จากจีนมาขายให้คนไทยที่นิยมชมชอบ  “ชามตราไก่”  กันมากน้อยแค่ไหน  โรงงานประมาณ 20 โรงงานที่ยังผลิตชามไก่อยู่จะต้านทานสินค้าชามไก่จากจีนได้ไหม  ถ้า FTA อาเซียน-จีน เริ่มมีผลบังคับใช้กับสินค้าเซรามิกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้

ถ้าพูดถึงสินค้าเซรามิกของเชียงใหม่  เรานึกถึงศิลาดล
เซรามิกของสมุทรสาคร  เรานึกถึง ถ้วยชามเบญจรงค์
เซรามิกของราชบุรี  เรานึกถึงโอ่งมังกร
เซรามิกของลำปาง  เราต้องนึกถึงชามไก่ 

         เพราะเป็นสินค้าเริ่มแรกที่เราผลิตกันเมื่อ 60 ปีก่อน แต่ถามว่าเราจะต้องอยู่กับชามไก่อย่างเดียวตลอดไปหรือเปล่า  อัตลักษณ์ของความเป็นลำปางที่เราจะฝากไว้ในเซรามิกของเราไม่มีให้จดจำไปถึงชั่วลูกชั่วหลานบ้างเลยหรือ  จังหวัดลำปางเรามีประวัติความเป็นมายาวนานมากกว่า  1,300  ปี  มีศิลปะขนบธรรมเนียมประเพณีสืบต่อกันมายาวนาน  มีวัดวาอารามเก่าแก่ที่มีลายคำล้านนาซึ่งไม่มีที่ไหนสมบูรณ์เท่าที่จังหวัดลำปางอีกแล้ว

          แม้จังหวัดลำปางเรายังไม่มีพิพิธภัณฑ์อย่างที่ควรจะมี  เราก็สามารถพบเห็นร่องรอยความวิจิตรของศิลปกรรมที่กระจัดกระจายตามซอกมุมต่าง ๆ ของลำปางได้ไม่ยาก  ความงามของกลองปูจา  ซุ้มประตู  ปูนปั้น  ช่อฟ้า  แท่นคำ  ขันโตก   โดยเฉพาะลายหม้อดอกและลายต้นสะหรีคำ (โพธิ์) อันเลื่องชื่อของจังหวัดลำปาง  ถูกนำไปตกแต่งโรงแรมดัง   5 ดาว หรือนำไปเป็นลวดลายสินค้าส่งออกเป็นจำนวนมาก  แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่มีใครรู้ว่ามาจากจังหวัดลำปางทั้งนั้น

          เครื่องปั้นดินเผาของจังหวัดลำปางก็มีหลักฐานแหล่งเตาโบราณหลายแห่ง  ถือได้ว่าเมื่อกว่า 700 ปีก่อนเคยเป็นเมืองที่มีความรุ่งเรืองทางด้านเซรามิกไม่น้อยกว่าปัจจุบัน  ชุมชนที่ผลิตเครื่องปั้นดินเผาเหล่านี้ได้แก่  แหล่งเตาวังเหนือ  แหล่งเตาบ้านแม่ทะ  แหล่งเตาทุ่งเตาไห  แหล่งเตาห้างฉัตร  เป็นต้น  บรรพบุรุษของเราปั้นถ้วยชามเครื่องใช้กันมาจนถึงยุคที่สินค้าจีนเข้ามาตีตลาดจนเลิกผลิตกันไปหลายร้อยปี   นานจนเตาเหล่านี้ถูกฝุ่นผงตะกอนดินทับถมจมหายไปใต้ดิน  มาฟื้นอีกครั้งก็เมื่อจีนทำสงครามกับญี่ปุ่น  สินค้าจากจีนเริ่มขาดตลาด  และเรามาพบแหล่งดินขาวที่อำเภอแจ้ห่มจึงเกิดอุตสาหกรรมเซรามิกขึ้นมาอีกครั้งเมื่อ 60 ปีก่อน

60 ปีของชามไก่ลำปาง จึงเป็นตำนานหน้าเดียวของเซรามิกลำปาง

          หลายชาติมีประวัติการผลิตเครื่องปั้นดินเผายาวนานย้อนหลังไปหลายพันปี  ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่สืบทอดกันมาเป็นยุคสมัย  ผมเคยไปประเทศญี่ปุ่นดูเมืองเซรามิกที่อะริตะ  เมืองนี้ประดับตกแต่งด้วยเซรามิกตั้งแต่สถานีรถไฟ  สวนสาธารณะ  ร้านค้าขายของที่ระลึก  มีพิพิธภัณฑ์เซรามิกทั้งของท้องถิ่นทั้งของเอกชนหลายแห่ง  ที่สถานีรถไฟของเมืองอะริตะนี้มีป้ายขนาดใหญ่หลายอันเรียงกัน  แต่ละป้ายจะเป็นลวดลายศิลปะของเซรามิกในแต่ละยุค   พอออกจากสถานีรถไฟก็มีร้านขายของเซรามิกที่มีลวดลายเหล่านั้นเต็มไปหมด ทุกยุคทุกสมัยเรียกว่า  เล่าเรื่องแล้วขายได้  เรื่องมากก็ขายได้มาก

          ของที่ระลึกและศิลปะประจำท้องถิ่นที่มีเรื่องราวประวัติความเป็นมาจะขายได้ก็เฉพาะท้องถิ่นนั้น ๆ ไม่ต้องกลัวว่าประเทศอื่นจังหวัดอื่นเขาจะมาก๊อปปี้ลอกเลียนแบบ  และยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า  เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เก็บไว้ได้ชั่วลูกชั่วหลาน

กลับมาที่อุตสาหกรรมเซรามิกบ้านเรา

          เครื่องปั้นดินเผาของจังหวัดสมุทรสาครที่มีชื่อเสียงก็คือ ลายคราม  ลวดลายที่แพร่หลายก็มี ลายสับปะรด  ลายผักชี  ลายก้านขด  ลายใบเทศ  โดยเฉพาะลายสับปะรด  ปัจจุบันยังเป็นลายยอดนิยมที่ร้านอาหารไทยโดยเฉพาะร้านอาหารไทยในต่างแดนนิยมยกเซ็ตใช้ลายนี้เป็นเอกลักษณ์แสดงถึงความเป็นไทย  ลายยอดนิยมต่าง ๆ เหล่านี้ผมยังไม่เห็นมีการโปรโมตอย่างจริงจังจึงไม่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย   หากมีการโปรโมตให้ร้านอาหารไทยในต่างประเทศใช้   ลวดลายต่าง ๆ เหล่านี้คงขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

          ปัจจุบันเครื่องถ้วยลายครามสมุทรสาครก็ดูจะเงียบเหงาลงไป  มีเครื่องถ้วยเบญจรงค์ผลิตออกมามากขึ้น  ต่อมาประยุกต์เป็นลายน้ำทองกับลายคราม  มีทั้งทองเงาและทองด้าน  ก็ขายดีไม่น้อย  ส่วนที่ราชบุรี โอ่งมังกร  ขายน้อยลงเรื่อย ๆ   เนื่องจากมีโอ่งพลาสติก  ถังสแตนเลสเข้ามาแทนที่  ประกอบกับการเผาโอ่งด้วยฟืนเริ่มมีปัญหา   ปัจจุบันหลายโรงเริ่มเปลี่ยนผลิตภัณฑ์มาทำของตกแต่งสวนสีสันสวยงาม  หลายโรงทำส่งโรงแรม 5 ดาว  มีสินค้าแปลกใหม่ออกมาเรื่อยๆ น่าสนใจไม่น้อย แล้วอุตสาหกรรมเซรามิกของจังหวัดลำปาง ที่กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ  ต้นทุนการผลิตสูง  ภาวะการแข่งขันที่เข้มข้นในปัจจุบัน  เราจะไปทางไหนกันต่อไป

          เราจะต้องมีสินค้าใหม่ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีเรื่องราว มีมูลค่าเพิ่ม จากฝีมือและภูมิปัญญาของท้องถิ่น ที่จะขายความเป็นลำปางให้กับผู้มาเยือน ซึ่งกระบวนการที่ว่านี้จะต้องใช้ความร่วมมือร่วมใจ ช่วยกันคิด ช่วยกันสร้าง ช่วยกันโปรโมต ให้ติดหูติดตาติดใจ  เป็นการเร่งให้เกิด ไม่ใช่คอยให้เติบโตอย่างธรรมชาติ เหมือนในอดีต  เพราะหากช้าเกินไปอุตสาหกรรมเซรามิกของจังหวัดลำปางอาจจมอยู่ในพื้นดินเป็นรอบที่ 2 อีกก็เป็นได้  ถือว่าทำเพื่อลูกหลาน  เพื่อสืบทอดตำนานเมืองเซรามิกให้คงอยู่ต่อไป

60  ปี ชามไก่ลำปาง  เรื่องราวของความวิริยะอุตสาหะของคนรุ่นที่ 1  สู่รุ่นที่ 2  ที่ 3  และรุ่นต่อ ๆ ไป   ชามไก่ลำปางจะขายได้ตลอดไป  ตราบเท่าที่อุตสาหกรรม เซรามิกจังหวัดลำปางยังคงอยู่  และพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ จากรุ่นสู่รุ่นสืบทอดกันต่อไป